วันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2553

จิตวิทยาการเรียนรู้

จิตวิทยา ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Psychology มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือPhyche แปลว่า วิญญาณ กับ Logos แปลว่า การศึกษา ตามรูปศัพท์ จิตวิทยาจึงแปลว่า วิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับวิญญาณ แต่ในปัจจุบันี้ จิตวิทยาได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไป ความหมายของจิตวิทยาได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย นั่นคือ จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษากี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์

การเรียนรู้ (Lrarning) ตามความหมายทางจิตวิทยา หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลอย่างค่อนข้างถาวร อันเป็นผลมาจากการฝึกฝนหรือการมีประสบการณ์ พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงที่ไม่จัดว่าเกิดจากการเรียนรู้ ได้แก่ พฤติกรรมที่เป็นการเปลี่ยนแปลงชั่วคราว และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เนื่องมาจากวุฒิภาวะ

พฤติกรรมการเรียนรู้

จุดมุ่งหมายของการเรียนรู้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม
1. พุทธิพิสัย หมายถึง การเรียนรู้ในด้านความรู้ ความเข้าใจ
2. จิตพิสัย หมายถึง การเรียนรู้ด้านทัศนคติ ค่านิยม ความซาบซึ้ง
3. ทักษะพิสัย หมายถึง การเรียนรู้เกี่ยวกับการกระทำหรือปฏิบัติงานการเรียนรู้กับการเรียนการสอนใน การสอนที่ดี ผู้สอนจำเป็นต้องนำทฤษฎีการเรียนรู้มาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุจุดประสงค์ในการเรียนรู้

องค์ประกอบสำคัญของการเรียนรู้

ดอลลาร์ด และมิลเลอร์ (Dallard and Miller) เสนอว่าการเรียนรู้ มีองค์ประกอบสำคัญ ๔ ประการ คือ

1. แรงขับ (Drive) เป็นความต้องการที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล เป็นความพร้อมที่จะเรียนรู้ของบุคคลทั้งสมอง ระบบประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อ แรงขับและความพร้อมเหล่านี้จะก่อให้เกิดปฏิกิริยา หรือพฤติกรรมที่จะชักนำไปสู่การเรียนรู้ต่อไป

2. สิ่งเร้า (Stimulus) เป็นสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้บุคคลมีปฏิกิริยา หรือพฤติกรรมตอบสนองออกมา ในสภาพการเรียนการสอน สิ่งเร้าจะหมายถึงครู กิจกรรมการสอน และอุปกรณ์การสอนต่างๆ ที่ครูนำมาใช้

3. การตอบสนอง (Response) เป็นปฏิกิริยา หรือพฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงออกมาเมื่อบุคคลได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้า ทั้งส่วนที่สังเกตเห็นได้และส่วนที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ เช่น การเคลื่อนไหว ท่าทาง คำพูด การคิด การรับรู้ ความสนใจ และความรู้สึก เป็นต้น

4. การเสริมแรง (Reinforcement) เป็นการให้สิ่งที่มีอิทธิพลต่อบุคคลอันมีผลในการเพิ่มพลังให้เกิดการเชื่อมโยง ระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองเพิ่มขึ้น การเสริมแรงมีทั้งทางบวกและทางลบ ซึ่งมีผลต่อการเรียนรู้ของบุคคลเป็นอันมาก

ธรรมชาติของการเรียนรู้

การเรียนรู้มีลักษณะสำคัญดังต่อไปนี้

1. การเรียนรู้เป็นกระบวนการ การเกิดการเรียนรู้ของบุคคลจะมีกระบวนการของการเรียนรู้จากการไม่รู้ไปสู่การเรียนรู้ ๕ ขั้นตอน คือ

1.1 มีสิ่งเร้ามากระตุ้นบุคคล

1.2 บุคคลสัมผัสสิ่งเร้าด้วยประสาททั้ง ๕

1.3 บุคคลแปลความหมายหรือรับรู้สิ่งเร้า

1.4 บุคคลมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างใดอย่างหนึ่งต่อสิ่งเร้าตามที่รับรู้

1.5 บุคคลประเมินผลที่เกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้า

2. การเรียนรู้ไม่ใช่วุฒิภาวะแต่การเรียนรู้อาศัยวุฒิภาวะ

วุฒิภาวะ คือ ระดับความเจริญเติบโตสูงสุดของพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาของบุคคลแต่ละวัยที่เป็นไปตามธรรมชาติ แม้ว่าการเรียนรู้จะไม่ใช่วุฒิภาวะแต่การเรียนรู้ต้องอาศัยวุฒิภาวะด้วย เพราะการที่บุคคลจะมีความสามารถในการรับรู้หรือตอบสนองต่อสิ่งเร้ามากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นมีวุฒิภาวะเพียงพอหรือไม่

3. การเรียนรู้เกิดได้ง่าย ถ้าสิ่งที่เรียนเป็นสิ่งที่มีความหมายต่อผู้เรียน

การเรียนสิ่งที่มีความหมายต่อผู้เรียน คือ การเรียนในสิ่งที่ผู้เรียนต้องการจะเรียนหรือสนใจจะเรียน เหมาะกับวัยและวุฒิภาวะของผู้เรียนและเกิดประโยชน์แก่ผู้เรียน การเรียนในสิ่งที่มีความหมายต่อผู้เรียนย่อมทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีกว่าการเรียนในสิ่งที่ผู้เรียนไม่ต้องการหรือไม่สนใจ

4. การเรียนรู้แตกต่างกันตามตัวบุคคลและวิธีการในการเรียน

ในการเรียนรู้สิ่งเดียวกัน บุคคลต่างกันอาจเรียนรู้ได้ไม่เท่ากันเพราะบุคคลอาจมีความพร้อมต่างกัน มีความสามารถในการเรียนต่างกัน มีอารมณ์และความสนใจที่จะเรียนต่างกันและมีความรู้เดิมหรือประสบการณ์เดิมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่จะเรียนต่างกัน

ในการเรียนรู้สิ่งเดียวกัน ถ้าใช้วิธีเรียนต่างกัน ผลของการเรียนรู้อาจมากน้อยต่างกันได้ และวิธีที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้มากสำหรับบุคคลหนึ่งอาจไม่ใช่วิธีเรียนที่ทำให้อีกบุคคลหนึ่งเกิดการเรียนรู้ได้มากเท่ากับบุคคลนั้นก็ได้

การถ่ายโยงความรู้

การถ่ายโยงการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะ คือ การถ่ายโยงการเรียนรู้ทางบวก (Positive Transfer) และการถ่ายโยงการเรียนรู้ทางลบ (Negative Transfer)

การถ่ายโยงการเรียนรู้ทางบวก (Positive Transfer) คือ การถ่ายโยงการเรียนรู้ชนิดที่ผลของการเรียนรู้งานหนึ่งช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อีกงานหนึ่งได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น หรือดีขึ้น การถ่ายโยงการเรียนรู้ทางบวก มักเกิดจาก
1. เมื่องานหนึ่ง มีความคล้ายคลึงกับอีกงานหนึ่ง และผู้เรียนเกิดการเรียนรู้งานแรกอย่างแจ่มแจ้งแล้ว
2. เมื่อผู้เรียนมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างงานหนึ่งกับอีกงานหนึ่ง
3. เมื่อผู้เรียนมีความตั้งใจที่จะนำผลการเรียนรู้จากงานหนึ่งไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับการเรียนรู้อีกงานหนึ่ง และสามารถจำวิธีเรียนหรือผลของการเรียนรู้งานแรกได้อย่างแม่นยำ
4. เมื่อผู้เรียนเป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยชอบที่จะนำความรู้ต่างๆ ที่เคยเรียนรู้มาก่อนมาลองคิดทดลองจนเกิดความรู้ใหม่ๆ

การถ่ายโยงการเรียนรู้ทางลบ (Negative Transfer) คือการถ่ายโยงการเรียนรู้ชนิดที่ผลการเรียนรู้งานหนึ่งไปขัดขวางทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อีกงานหนึ่งได้ช้าลง หรือยากขึ้นและไม่ได้ดีเท่าที่ควร การถ่ายโยงการเรียนรู้ทางลบ อาจเกิดขึ้นได้ 2 แบบ คือ
1. แบบตามรบกวน (Proactive Inhibition) ผลของการเรียนรู้งานแรกไปขัดขวางการเรียนรู้งานที่ ๒
2. แบบย้อนรบกวน (Retroactive Inhibition) ผลการเรียนรู้งานที่ ๒ ทำให้การเรียนรู้งานแรกน้อยลง

การนำความรู้ไปใช้

1. ก่อนที่จะให้ผู้เรียนเกิดความรู้ใหม่ ต้องแน่ใจว่า ผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับความรู้ใหม่มาแล้ว

2. พยายามสอนหรือบอกให้ผู้เรียนเข้าใจถึงจุดมุ่งหมายของการเรียนที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง

3. ไม่ลงโทษผู้ที่เรียนเร็วหรือช้ากว่าคนอื่นๆ และไม่มุ่งหวังว่าผู้เรียนทุกคนจะต้องเกิดการเรียนรู้ที่เท่ากันในเวลาเท่ากัน

4. ถ้าสอนบทเรียนที่คล้ายกัน ต้องแน่ใจว่าผู้เรียนเข้าใจบทเรียนแรกได้ดีแล้วจึงจะสอนบทเรียนต่อไป

5. พยายามชี้แนะให้ผู้เรียนมองเห็นความสัมพันธ์ของบทเรียนที่มีความสัมพันธ์กัน

ลักษณะสำคัญ ที่แสดงให้เห็นว่ามีการเรียนรู้เกิดขึ้น จะต้องประกอบด้วยปัจจัย 3 ประการ คือ

1. มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ค่อนข้างคงทน ถาวร

2. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้นจะต้องเป็นผลมาจากประสบการณ์ หรือการฝึก การปฏิบัติซ้ำๆ เท่านั้น

3. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดังกล่าวจะมีการเพิ่มพูนในด้านความรู้ ความเข้าใจ ความรู้สึกและความสามารถทางทักษะทั้งปริมาณและคุณภาพ

กลุ่มโครงสร้างของจิต Structuralism

จิตวิทยาระบบนี้มีความสำคัญอย่างน้อยๆ 3 ประการ คือ

1.เป็นจุดเริ่มต้นของการแยกวิชาจิตวิทยาออกมาจากวิชาปรัชญาและสรีรวิทยา

2.เป็นจุดเริ่มต้นของการทดลองแบบวิทยาศาสตร์ทางจิต โดยการใช้วิธีตรวจสอบประสบการณ์ทาง จิต หรือ introspection

3.กระตุ้นให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการจิตวิทยา เกิดแนวความคิดใหม่

-Wundt เชื่อว่าจิตและร่างกายนั้นขนานกัน ทำงานไม่สัมพันธ์กันโดยตรง

-ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ซึ่งรับรู้ได้ด้วยจิตนั้นจัดเป็นประสบการณ์ทางตรง Immediate experience ซึ่งมีองค์ประกอบย่อยๆ 3 ส่วนคือ

1.การสัมผัสระหว่างสิ่งเร้ากับประสาทสัมผัส ( sensation)

2.ความรู้สึกต่างๆ ( feeling) ทฤษฎี 3 มิติ ที่ใช้อธิบายองค์ประกอบของส่วนที่เป็น feeling คือ

- pleasant-unpleasant (น่ายินดี-ไม่น่ายินดี)

- tense-relaxed (ทำให้ตึง-ผ่อนคลาย)
- excited-calm (ปลุกเร้า-ทำให้สงบ)

3.มโนภาพ (images)

กลุ่มหน้าที่ของจิต Functionalism

-เชื่อว่าจิตมีหน้าที่ควบคุมการกระทำกิจกรรม ของร่างกาย

-คำว่าจิต ตามความคิดของพวก Functionalism นั้นก็คือกระบวนการกระทำกิจกรรมของร่างกายในอันที่จะปรับตัวให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมนั้นเอง

-มีส้วนคล้ายกับกลุ่ม Structuralism อยู่ 2 ประการคือ จิตวิทยาในกลุ่มจิตนิยม ( Mentalism ) และอาศัยระเบียบวิธีทางปรัชญา ( Philosophical Psychology ) เช่นเดียวกัน และต่างมุ่งศึกษาเฉพาะจิตที่รู้สำนึก ( Consciousness ) เช่นกัน

-ส่วนที่แตกต่างกันคือ กลุ่ม Structuralism มีความสนใจมุ่งศึกษาให้เข้าใจส่วนประกอบของจิตหรือจิตธาตุ ส่วนกลุ่ม Functionalism มุ่งศึกษาให้เข้าใจหน้าที่ของจิตกระบวนการทางสมองเช่นการนึก คิด เป็นหน้าที่ของจิตที่บัญชา

Functionalism ได้ว่ามี 2 ประการ คือ
1. การกระทำทั้งหมด ( The total activities ) หรือการแสดงออกของคนเราเป็นการแสดงออกเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นในการศึกษาจิตใจคน ก็ต้องศึกษาการแสดงออกของเขาในสถานการณ์นั้นๆ

2. การกระทำหรือการแสดงออกทั้งหมดขึ้นอยู่หรือเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ของแต่ละคน ( The experience individual) เสมอ พฤติกรรมของคนจึงแตกต่างกัน

ทฤษฎีการเรียนรู้ (Theory of Learning)

ทฤษฎีการเรียนรู้มีอิทธิพลต่อการจัดการเรียนการสอนมาก เพราะจะเป็นแนวทางในการกำหนดปรัชญาการศึกษาและการจัดประสบการณ์ เนื่องจากทฤษฎีการเรียนรู้เป็นสิ่งที่อธิบายถึงกระบวนการ วิธีการและเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้และตรวจสอบว่าพฤติกรรมของมนุษย์ มีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร

ทฤษฎีการเรียนรู้ที่สำคัญ แบ่งออกได้ 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1. ทฤษฎีกลุ่มสัมพันธ์ต่อเนื่อง (Associative Theories)

2. ทฤษฎีกลุ่มความรู้ความเข้าใจ (Cognitive Theories)

กลุ่มพฤติกรรมนิยม Behaviorism

-แนวคิดของกลุ่มพฤติกรรมนิยมเน้นว่าพฤติกรรมทุกอย่างต้องมีเหตุและสาเหตุนั้นอาจมาจากสิ่งเร้าในรูปใดก็ได้มากระทบอินทรีย์หรือร่างกาย จึงทำให้อินทรีย์มีพฤติกรรมตอบสนอง

-การวางเงื่อนไข ( Conditioning ) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดพฤติกรรม และสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้

-พฤติกรรมของคนที่ปรากฏขึ้นส่วนมาก เกิดจากการเรียนรู้มากกว่าจะเป็นไปเองตามธรรมชาติ

-ทฤษฎีนี้เห็นว่าการเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้า (Stimulus) และการตอบสนอง (Response) ปัจจุบันเรียกนักทฤษฎีกลุ่มนี้ว่า "พฤติกรรมนิยม" (Behaviorism) ซึ่งเน้นเกี่ยวกับกระบวนการเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมที่มองเห็น และสังเกตได้มากกว่ากระบวนการคิด แบ่งเป็นกลุ่มย่อยได้ ดังนี้

-ทฤษฎีการวางเงื่อนไข (Conditioning Theories)

1.1 ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค (Classical Conditioning Theories)

1.2ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำ (Operant Conditioning Theory)

-ทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยง (Connectionism Theories)

2.1 ทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยง (Connectionism Theory)

2.2 ทฤษฎีสัมพันธ์ต่อเนื่อง (S-R Contiguity Theory)

ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค
อธิบายถึงการเรียนรู้ที่เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าตามธรรมชาติ และสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขกับการ ตอบสนอง พฤติกรรมหรือการตอบสนองที่เกี่ยวข้องมักจะเป็นพฤติกรรมที่เป็นปฏิกิริยาสะท้อน (Reflex) หรือ พฤติกรรมที่เกี่ยวข้องอารมณ์ ความรู้สึก บุคคลสำคัญของทฤษฎีนี้ ได้แก่ Pavlov, Watson, Wolpe etc.
- Ivan P. Pavlov
นักสรีรวิทยาชาวรัสเซีย (1849 - 1936) ได้ทำการทดลองเพื่อศึกษาการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการเชื่อมโยงระหว่างการตอบสนองต่อสิ่งเร้าตามธรรมชาติที่ไม่ได้วางเงื่อนไข (Unconditioned Stimulus = UCS) และสิ่งเร้า ที่เป็นกลาง (Neutral Stimulus) จนเกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งเร้าที่เป็นกลางให้กลายเป็นสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข (Conditioned Stimulus = CS) และการตอบสนองที่ไม่มีเงื่อนไข (Unconditioned Response = UCR) เป็นการตอบสนองที่มีเงื่อนไข (Conditioned Response = CR) ลำดับขั้นตอนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นดังนี้
1. ก่อนการวางเงื่อนไข
UCS (อาหาร) UCR (น้ำลายไหล)
สิ่งเร้าที่เป็นกลาง (เสียงกระดิ่ง) น้ำลายไม่ไหล
2. ขณะวางเงื่อนไข
CS (เสียงกระดิ่ง) + UCS (อาหาร) UCR (น้ำลายไหล)
3. หลังการวางเงื่อนไข
CS (เสียงกระดิ่ง) CR (น้ำลายไหล)

หลักการเกิดการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น คือ การตอบสนองที่เกิดจากการวางเงื่อนไข (CR) เกิดจากการนำเอาสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข (CS) มาเข้าคู่กับสิ่งเร้าที่ไม่ได้วางเงื่อนไข (UCS) ซ้ำกันหลายๆ ครั้ง ต่อมาเพียงแต่ให้สิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข (CS) เพียงอย่างเดียวก็มีผลทำให้เกิดการตอบสนองในแบบเดียวกัน

ผลจากการทดลอง Pavlov สรุปหลักเกณฑ์ของการเรียนรู้ได้ 4 ประการ คือ
1. การดับสูญหรือการลดภาวะ (Extinction) เมื่อให้ CR นานๆ โดยไม่ให้ UCS เลย การตอบสนองที่มีเงื่อนไข (CR) จะค่อยๆ ลดลงและหมดไป
2. การฟื้นกลับหรือการคืนสภาพ ( Spontaneous Recovery ) เมื่อเกิดการดับสูญของการตอบสนอง (Extinction) แล้วเว้นระยะการวางเงื่อนไขไปสักระยะหนึ่ง เมื่อให้ CS จะเกิด CR โดยอัตโนมัติ

3. การแผ่ขยาย หรือ การสรุปความ (Generalization) หลังจากเกิดการตอบสนองที่มีเงื่อนไข ( CR ) แล้ว เมื่อให้สิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข (CS) ที่คล้ายคลึงกัน จะเกิดการตอบสนองแบบเดียวกัน
4. การจำแนกความแตกต่าง (Discrimination) เมื่อให้สิ่งเร้าใหม่ที่แตกต่างจากสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข จะมีการจำแนกความแตกต่างของสิ่งเร้า และมีการตอบสนองที่แตกต่างกันด้วย

- John B. Watson
นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน (1878 - 1958) ได้ทำการทดลองการวางเงื่อนไขทางอารมณ์กับเด็กชายอายุประมาณ 11 เดือน โดยใช้หลักการเดียวกับ Pavlov หลังการทดลองเขาสรุปหลักเกณฑ์การเรียนรู้ได้ ดังนี้
1. การแผ่ขยายพฤติกรรม (Generalization) มีการแผ่ขยายการตอบสนองที่วางเงื่อนไขต่อสิ่งเร้า ที่คล้ายคลึงกับสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข
2. การลดภาวะ หรือการดับสูญการตอบสนอง (Extinction) ทำได้ยากต้องให้สิ่งเร้าใหม่ (UCS ) ที่มีผลตรงข้ามกับสิ่งเร้าเดิม จึงจะได้ผลซึ่งเรียกว่า Counter - Conditioning

- Joseph Wolpe
นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน (1958) ได้นำหลักการ Counter - Conditioning ของ Watson ไปทดลองใช้บำบัดความกลัว (Phobia) ร่วมกับการใช้เทคนิคผ่อนคลายกล้ามเนื้อ (Muscle Relaxation) เรียกวิธีการนี้ว่า Desensitization

การนำหลักการมาประยุกต์ใช้ในการสอน
1. ครูสามารถนำหลักการเรียนรู้ของทฤษฎีนี้มาทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้เรียนที่แสดงออกถึงอารมณ์ ความรู้สึกทั้งด้านดีและไม่ดี รวมทั้งเจตคติต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น วิชาที่เรียน กิจกรรม หรือครูผู้สอน เพราะเขาอาจได้รับการวางเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ก็เป็นได้
2. ครูควรใช้หลักการเรียนรู้จากทฤษฎีปลูกฝังความรู้สึกและเจตคติที่ดีต่อเนื้อหาวิชา กิจกรรมนักเรียน ครูผู้สอนและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้เกิดในตัวผู้เรียน
3. ครูสามารถป้องกันความรู้สึกล้มเหลว ผิดหวัง และวิตกกังวลของผู้เรียนได้โดยการส่งเสริมให้กำลังใจในการเรียนและการทำกิจกรรม ไม่คาดหวังผลเลิศจากผู้เรียน และหลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์หรือลงโทษผู้เรียนอย่างรุนแรงจนเกิดการวางเงื่อนไขขึ้น กรณีที่ผู้เรียนเกิดความเครียด และวิตกกังวลมาก ครูควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ผ่อนคลายความรู้สึกได้บ้างตามขอบเขตที่เหมาะสม

ทฤษฎีการวางเขื่อนไขแบบการกระทำของสกินเนอร์

(Skinner'sOperantConditioning Theory)
B.F. Skinner (1904 - 1990) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้ทำการทดลองด้านจิตวิทยาการศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์การเรียนรู้ที่มีการตอบสนองแบบแสดงการกระทำ (Operant Behavior) สกินเนอร์ได้แบ่ง พฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตไว้ ๒ แบบ คือ
1. Respondent Behavior พฤติกรรมหรือการตอบสนองที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ หรือเป็นปฏิกิริยาสะท้อน (Reflex) ซึ่งสิ่งมีชีวิตไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เช่น การกระพริบตา น้ำลายไหล หรือการเกิดอารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ
2. Operant Behavior พฤติกรรมที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตเป็นผู้กำหนด หรือเลือกที่จะแสดงออกมา ส่วนใหญ่จะเป็นพฤติกรรมที่บุคคลแสดงออกในชีวิตประจำวัน เช่น กิน นอน พูด เดิน ทำงาน ขับรถ ฯลฯ.

การเรียนรู้ตามแนวคิดของสกินเนอร์ เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองเช่นเดียวกัน แต่สกินเนอร์ให้ความสำคัญต่อการตอบสนองมากกว่าสิ่งเร้า จึงมีคนเรียกว่าเป็นทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบ Type R นอกจากนี้สกินเนอร์ให้ความสำคัญต่อการเสริมแรง (Reinforcement) ว่ามีผลทำให้เกิดการเรียนรู้ที่คงทนถาวร ยิ่งขึ้นด้วย สกินเนอร์ได้สรุปไว้ว่า อัตราการเกิดพฤติกรรมหรือการตอบสนองขึ้นอยู่กับผลของการกระทำ คือ การเสริมแรง หรือการลงโทษ ทั้งทางบวกและทางลบ
การนำหลักการมาประยุกต์ใช้

1. การเสริมแรง และ การลงโทษ

2. การปรับพฤติกรรม และ การแต่งพฤติกรรม

3. การสร้างบทเรียนสำเร็จรูป

การเสริมแรงและการลงโทษ

การเสริมแรง (Reinforcement) คือการทำให้อัตราการตอบสนองหรือความถี่ของการแสดงพฤติกรรมเพิ่มขึ้นอันเป็นผลจากการได้รับสิ่งเสริมแรง (Reinforce) ที่เหมาะสม การเสริมแรงมี 2 ทาง ได้แก่

1. การเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcement ) เป็นการให้สิ่งเสริมแรงที่บุคคลพึงพอใจ มีผลทำให้บุคคลแสดงพฤติกรรมถี่ขึ้น

2. การเสริมแรงทางลบ (Negative Reinforcement) เป็นการนำเอาสิ่งที่บุคคลไม่พึงพอใจออกไป มีผลทำให้บุคคลแสดงพฤติกรรมถี่ขึ้น

การลงโทษ (Punishment) คือ การทำให้อัตราการตอบสนองหรือความถี่ของการแสดงพฤติกรรมลดลง การลงโทษมี 2 ทาง ได้แก่

1. การลงโทษทางบวก (Positive Punishment) เป็นการให้สิ่งเร้าที่บุคคลที่ไม่พึงพอใจ มีผลทำให้บุคคลแสดงพฤติกรรมลดลง

2. การลงโทษทางลบ (Negative Punishment) เป็นการนำสิ่งเร้าที่บุคคลพึงพอใจ หรือสิ่งเสริมแรงออกไป มีผลทำให้บุคคลแสดงพฤติกรรมลดลง

ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis)
พัฒนาการของมนุษย์ 5 ขั้น ของฟรอยด์

1. ขั้นปาก (Oral Stage) อายุตั้งแต่แรกเกิด - 2 ขวบ

2. ขั้นทวารหนัก (Anal Stage) อายุ 2 - 3 ขวบ

3. ขั้นอวัยวะเพศ (Phallic Stage) อายุ 3 - 5 ขวบ

4. ขั้นแฝง (Latent Stage) อายุ 6 - 12 ขวบ

5. ขั้นวัยรุ่น (Genital Stage) อายุ 13 - 18 ขวบ

กลุ่มจิตวิทยาเกสตอล Gestalt Psychology

กลุ่มเกสตัลท์กล่าวว่า การเรียนรู้ที่เห็นส่วนรวมมากกว่าส่วนย่อยนั้นจะต้องเกิด จากประสบการณ์เดิม และการเรียนรู้ย่อมเกิดขึ้น 2 ลักษณะคือ

1. การรับรู้ (Perception) หมายถึงการแปลความหมายหรือการตีความต่อสิ่งเร้าของอวัยวะรับสัมผัสส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั่งห้าส่วน ได้แก่หู ตา จมูก ลิ้น และผิวหนัง และการตีความนี้ มักอาศัย ประสบการณ์เดิมดังนั้น แต่ละคน อาจรับรู้ในสิ่งเร้าเดียวกันแตกต่างกันได้ แล้วแต่ประสบการณ์

2. การหยั่งรู้ หรือ การหยั่งเห็น (Insight) หมายถึง การเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยจะเกิดแนวความคิดในการ เรียนรู้หรือการแก้ปัญหา ขึ้นอย่างฉับพลันทันทีทันใด (เกิดความคิดแวบขึ้นมาในสมองทันที) มองเห็นแนวทาง การแก้ปัญหาตั้งแต่จุดเริ่มต้นเป็น ขั้นตอนจนถึงจุดสุดท้ายที่สามารถจะแก้ปัญหาได้

กลุ่มมนุษยนิยม ( Humanism )

-เชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์โลกประเภทหนึ่งที่มีจิตใจ มีความต้องการความรัก มีความต้องการความอบอุ่น มีความเข้าใจ มีความสามารถเฉพาะตัว
-เชื่อว่ามนุษย์เราทุกคนต่างก็พยายามจะรู้จักและเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง-เชื่อว่า ในเมื่อมนุษย์เราทุกคนต่างก็เข้าใจผู้อื่น และยอมรับตนเองอยู่แล้วต่างคนก็มุ่งสร้างย่อมเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ให้แก่ตนเอง

กลุ่มปัญญานิยม (Cognitivism)

-ทฤษฎีปัญญานิยมนี้ เกิดขึ้นจากแนวคิดของชอมสกี้ (Chomsky) ที่ไม่เห็น ด้วยกับสกินเนอร์ (Skinner) บิดาของทฤษฎีพฤติกรรมนิยม

ความแตกต่างระหว่างแนวคิดแบบพฤติกรรมนิยมและปัญญานิยม

1.ทฤษฎีพฤติกรรมนิยมมุ่งเน้นในเรื่องของพฤติกรรมหรือการกระทําภายนอกซึ่งสามารถสังเกตได้ ในขณะที่ทฤษฎีปัญญานิยมมุ่งเน้นถึงสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจมนุษย์

2.ทฤษฎีพฤติกรรมนิยมมุ่งชี้ความสําคัญขององค์ประกอบย่อย ๆ แต่ละส่วนจากส่วนหนึ่งไปยังอีกส่วนหนึ่ง ทฤษฎีปัญญานิยมพยายามชี้ในภาพรวมเป็นหลัก จากภาพรวมหรือวัตถุประสงค์รวมไปสู่ส่วนประกอบ

3.ทฤษฎีพฤติกรรมนิยมมุ่งเน้นสิ่งที่เป็นรูปธรรมซึ่งสามารถจับต้องได้ ในขณะที่ทฤษฎีปัญญานิยมมุ่งเน้นในสิ่งที่เป็นนามธรรมซึ่งไม่สามารถจับต้องได้

4.ทฤษฎีพฤติกรรมนิยมมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องของความรู้ของมนุษย์ในลักษณะของสิ่งที่มีอยู่แล้วและรอให้มนุษย์ค้นพบและเรียกกลับมาใช้ใหม่ ทฤษฎีปัญญานิยมมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องของความรู้ในลักษณะของสิ่งที่มนุษย์จํ าเป็นต้องสร้างให้เกิดขึ้นและหากต้องนําความรู้กลับมาใช้อีก

5.ทฤษฎีพฤติกรรมนิยมเปรียบเทียบกับจิตใจมนุษย์เป็นเสมือนโรงงานประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ ทฤษฎีปัญญานิยมเปรียบเทียบจิตใจเป็นเสมือนคอมพิวเตอร์

6.ทฤษฎีพฤติกรรมนิยมมุ่งเน้นในผลลัพธ์ ในขณะที่ทฤษฎีปัญญานิยมมุ่งเน้นในกระบวนการ

ทฤษฎีการเรียนรู้ที่สำคัญของกลุ่มปัญญานิยม มีดังต่อไปนี้

-ทฤษฏีการเรียนรู้ของกลุ่ม เกสตัลท์ ( Gestalt Theory)

-ทฤษฎีเครื่องหมาย (Sign Theory) ของทอลแมน (Tolman)

-ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา (Intellectual Development Theory) นักจิตวิทยาคนสำคัญ คือ เพียเจต์ (Piaget) และ บรุเนอร์ (Bruner)

-ทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความหมาย (A Theory of Meaningful Verbal Learnning) ของ ออซูเบล (Ausubel)

-ทฤษฎีความยืดหยุ่นทางปัญญา (Cognitive Flexibility Theory)

-ทฤษฎีโครงสร้างความรู้ (Schema Theory) มีนักจิตวิทยาที่สำคัญ คือ รูเมลฮาร์ทและออโทนี่(Rumelhart and Ortony)

-ทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้วยตนเอง (Constructivism)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น